ส่องสตอรี่ใหม่ GCAP ทางรอดลด 'กำไร' ผันผวน

 

ไม่นานเกินรอ!! องค์กรแห่งนี้จะพลิกโฉมใหม่ "สเปญ จริงเข้าใจ" นายใหญ่ "จี แคปปิตอล" ส่งสัญญาณหนักแน่น หนึ่งในงานเร่งด่วนต้อง "ลดผันผวน" ตัวเลข กำไร-รายได้ พร้อมผลักดันธุรกิจบริษัทลูกยกฐานะ

 

          สัดส่วนรายได้จากสิทธิเรียกร้องภายใต้สัญญาเช่าซื้อทรัพย์สินประเภท "รถเกี่ยวนวดข้าว" เพื่อการเกษตรที่ระดับสูง ปัจจัยทางธรรมชาติที่อยู่เหนือการควบคุมได้ ทำให้ที่ผ่านมา บมจ.จี แคปปิตอล หรือ GCAP ผู้ประกอบการธุรกิจให้สินเชื่อเช่าซื้อเครื่องจักรกลการเกษตร กลายเป็นบริษัทที่มีงบทางการเงินที่ค่อนข้าง "ผันผวน" !!

          แม้ผลประกอบการครึ่งปีแรก 2562 จะตีตื้นเติบโตเป็นตัวเลขสองหลัก โดยมี "กำไรสุทธิ" 31 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16% ขณะที่ "รายได้" 174 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19% มียอดการปล่อยสินเชื่อใหม่รวมจำนวน 552 ล้านบาท จากงวดเดียวกันของปีก่อน แต่หากดูผลประกอบการ 3 ปีย้อนหลัง (2559-2561) พบว่า มีตัวเลขผลประกอบการผันผวน สะท้อนผ่านกำไรสุทธิอยู่ที่ 41.28 ล้านบาท 27.02 ล้านบาท และ 54.89 ล้านบาท ตามลำดับ

          นับตั้งแต่ 'สเปญ จริงเข้าใจ' กรรมการผู้จัดการ บมจ. จี แคปปิตอล หรือ GCAP แตะมือรับช่วงบริหารต่อเมื่อ 3 ปีก่อน ซึ่งตอนมารับตำแหน่งเป็นช่วงปีสุดท้ายของ 'วิกฤติภัยแล้งครั้งใหญ่' ของเมืองไทย ซึ่งก่อนตนเองเข้ามาบริษัทกำลังประสบปัญหามาก เนื่องจากปัญหาภัยแล้งทำให้ชาวนาไม่มีข้าวให้เก็บเกี่ยว กระทบต่อความสามารถในการผ่อนส่งค่าเช่าซื้อเครื่องจักรกลทางการเกษตรทำให้บริษัทมีผลดำเนินงานที่ลดลงหนัก ทำให้ตอนนั้นบริษัทตัดสินใจต้องมองหา 'ธุรกิจใหม่' (New Business) เข้ามาเสริมแล้ว !! โดยการเริ่มเข้าสู่ "ธุรกิจปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคล" (พีโลน) แต่ยังเป็นพอร์ตไม่ใหญ่มาก และ 'แตกไลน์' ออกไปปล่อยสินเชื่อสบายใจอันดามัน แต่ก็ยังไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงภายในบริษัทมากนักเนื่องจากพอร์ตใหญ่ยังเป็นสินเชื่อรถเกี่ยวนวดข้าว

          ฉะนั้น หนึ่งในกลยุทธ์ที่ 'สเปญ' นำเสนอบอร์ดก็คือ เราต้องกระจายพอร์ตสินเชื่อเครื่องจักรกลเกษตรในสินค้าอื่นๆ เช่น ข้าวโพด , ยางพารา , มันสำปะหลัง เป็นต้น ลดการพึ่งพิงสินค้าเกษตรประเภทข้าวอย่างเดียว รวมทั้งหารายได้เสริมจากธุรกิจใหม่ มาสร้างให้เกิดประโยชน์สูงสุด "กำจัดจุดอ่อน" ผลการดำเนินงานที่ "ผันผวน" ตามทิศทางราคาสินค้าเกษตรตกต่ำจากปัญหาภัยแล้งหรือน้ำท่วม และมุ่งสร้างความเติบโตที่สม่ำเสมอมากขึ้น

          แม่ทัพใหญ่ จี แคปปิตอล กล่าวกับ 'กรุงเทพธุรกิจ Biz Week' ว่า ปัจจุบันบริษัทเริ่มกระจาย 'ความเสี่ยง' ของแหล่งที่มาของเครื่องจักรกลการเกษตร จากเดิมจะมีเพียงสินค้าประเภทข้าวเป็นหลัก แต่ตอนนี้มีเครื่องจักรกลเก็บเกี่ยวอย่าง ข้าวโพด โดยเฉพาะเครื่องจักรกลทำแผ่นยางพาราที่พอร์ตดังกล่าวแทบ 'ไม่มีหนี้เสีย' จากลูกค้า

"เป้าหมายต้องการเห็นพอร์ตเครื่องจักรกลเกษตรในสัดส่วน 60-70% ถือว่าน่าพอใจแล้ว ส่วนอีก 30-40% เป็นพอร์ตลงทุนในธุรกิจอื่นๆ อย่างการลงทุนในสินเชื่อสบายใจอันดามันที่เราเข้าไปทำโดยไม่มีคู่แข่ง"

          นอกจากนี้ กำลังจะเห็นการเปลี่ยนอีกครั้งของ 'จี แคปปิตอล' ในไตรมาส 3 ปี 2562 หลังจากบริษัทได้เข้าร่วมลงทุนกับ 9F International Holding PTE. LTD (9F) ที่เป็นบริษัททางการเงินชั้นนำจากประเทศจีน จัดตั้งบริษัทร่วมทุนภายใต้ชื่อ "สบายใจมันนี่" โดยบริษัทถือหุ้น 51% และพันธมิตรจีน 49% เพื่อให้บริการปล่อยสินเชื่อแบบดิจิทัลเลนดิ้ง ซึ่งประกอบด้วยสินเชื่อส่วนบุคคลรายย่อยเป็นหลัก ซึ่งได้รับใบอนุญาตธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แล้ว คาดว่าจะเริ่มปล่อยสินเชื่อได้ในช่วงเดือน ต.ค.นี้  "เบื้องต้นตั้งเป้าเริ่มปล่อยสินเชื่อ 50 ล้านบาทแรก !!"

          อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า 9F จะเข้ามาให้การสนับสนุนด้านเทคโนโลยีแบบใหม่ รวมทั้งระบบการปล่อยสินเชื่อที่เข้าถึงกลุ่มไม่มีหลักฐานรายรับในลักษณะรายได้ประจำที่บริษัทไม่มีความถนัด เช่น ผู้ประกอบการรายย่อยที่มีเงินหมุนเวียนมาก แต่ไม่สามารถขอเงินกู้จากสถาบันทางการเงินได้ โดยคาดว่ากลุ่มดังกล่าวมีความต้องการสินเชื่อรวมวงเงินหลายหมื่นล้านบาท ทั้งนี้ ในบริษัทร่วมทุน สบายใจมันนี่ ได้ยื่นจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ NASDAQ และออก IPO เพื่อระดมทุน จำนวน 150 ล้าน ดอลลาร์สหรัฐ จากนักลงทุนผู้สนใจอีกด้วย

ณ ปัจจุบันสินเชื่อหลักของ "จี แคปปิตอล" แบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม คือ 

1.สินเชื่อสบายใจเกษตร เป็นบริการสินเชื่อเช่าซื้อเครื่องจักรกลการเกษตรหลากหลายประเภท ประกอบด้วย เครื่องเกี่ยวนวดข้าว เครื่องเกี่ยวข้าวโพด รถแทรกเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง (นิวฮอลแลนด์ และ อิเซกิ) รถตักล้อยาง เครื่องรีดยางเครป และเครื่องจักรกลการเกษตรอื่นๆ

2.สินเชื่อสบายใจอันดามัน เป็นการให้บริการสินเชื่อรีไฟแนนซ์ เป็นการให้บริการสินเชื่อเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบอาชีพ ,เพื่อนำเงินไปใช้ในการซื้ออะไหล่ ,เพื่อการซ่อมแซมรถ /เรือ / เครื่องจักกลการเกษตร ที่บริษัทให้เช่าซื้อ หรือเพื่อใช้เป็นเงินดาวน์ออกรถ /เรือคันใหม่ เป็นต้น

3.สินเชื่อสบายใจธุรกิจ เป็นสินเชื่อเงินกู้ยืมแบบมีหลักประกัน เช่น สินเชื่อจดจำนอง สินเชื่อ Factoring สินเชื่อขาย-ฝาก เป็นการให้สินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องในการประกอบธุรกิจ หรือจ่ายตามความประสงค์ของลูกค้า โดยผู้ขอกู้จะต้องนำหลักประกันมาจดจำนอง /โอนกรรมสิทธิ์ให้กับบริษัท

4.สินเชื่อสบายใจพนักงาน (สวัสดิการ) เป็นบริการสินเชื่อเงินกู้ยืมแบบไม่มีหลักประกันให้กับพนักงานบริษัท เนื่องจากสินเชื่อส่วนบุคคลเป็นสินเชื่อเงินกู้ยืมแบบไม่มีหลักประกัน บริษัทจึงกำหนดนโยบายการให้สินเชื่อส่วนบุคคลเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่มีอาชีพการงานที่มั่นคง มีหลักแหล่งที่แน่นอน และสามารถตรวจสอบข้อมูลได้เท่านั้น ซึ่งกลุ่มเป้าหมายจึงเป็นพนักงานของบริษัทที่มีข้อตกลงในการหักเงินเพื่อชำระค่างวดผ่านบัญชีเงินเดือน เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงสำหรับสินเชื่อเงินกู้ยืมแบบไม่มีหลักประกัน

และ 5.สินเชื่อสบายใจตลาด เป็นบริการสินเชื่อเงินกู้ยืมสำหรับ พ่อค้า แม่ค้า และผู้ประกอบการในตลาดชั้นนำของประเทศไทย เพื่อตอบโจทย์ความต้องการการกู้ยืมเงินเพื่อจ่ายค่าแผงค้า หรือเพื่อนำไปใช้เสริมสภาพคล่องของธุรกิจ โดยเน้นกลุ่มเป้าหมายที่มีอาชีพการงานมั่นคง มีกลักแหล่งที่มาแน่นอน และสามารถตรวจสอบข้อมูลได้ เช่น มีแผงค้าขายและสัญญาเช่าแผงที่ชัดเจนและมีการตรวจสอบข้อมูลจากตลาดนั้นๆ

          เขา บอกต่อว่า แนวโน้มผลประกอบการในช่วงครึ่งปีหลัง 2562 เชื่อว่าจะเติบโตได้อย่างต่อเนื่องจากครึ่งปีแรก โดยบริษัทได้มีการเพิ่มพันธมิตรทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ทั้งภาคอุตสาหกรรมการเกษตรและภาคธุรกิจท่องเที่ยวให้มีความหลากหลายครอบคลุมความต้องการของลูกค้า โดยบริษัทตั้งเป้าการปล่อยสินเชื่อใหม่ปีนี้ จะทำได้ตามเป้าหมาย 1,500 ล้านบาท จากปีก่อน 1,200 ล้านบาท แบ่งเป็นสินเชื่อเช่าซื้อ 75% สินเชื่อส่วนบุคคลและนิติบุคคลอีก 25% สำหรับการปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคล (พีโลน) บริษัทจะเน้นไปยังกลุ่มลูกค้าของ GCAP ก่อน ประมาณ 2-3 หมื่นราย โดยเบื้องต้นจะมีวงเงินสินเชื่ออยู่ที่ 1 แสนบาทต่อราย ขณะที่ คาดว่าสัดส่วนสินเชื่อเช่าซื้อจะเติบโตสูงขึ้น จากการขยายฐานลูกค้ามากขึ้น อีกทั้งคู่ค้าในส่วนของเครื่องจักรกลทางการเกษตรจะออกสินค้าใหม่ ทำให้บริษัทคาดว่าสินเชื่อเช่าซื้อจะเพิ่มขึ้นตามสินค้าใหม่อีกด้วย 'อย่างไรก็ตาม คาดปีนี้รายได้ยังเติบโตตามเป้าที่ 20-30% จากปีก่อนที่มีรายได้รวมที่ 306.40 ล้านบาท และกำไรจะดีกว่าปีก่อนที่อยู่ 54.89 ล้านบาท'

          ทั้งนี้ บริษัทได้ทำการพัฒนาเทคโนโลยีปล่อยสินเชื่อและการเก็บค่างวดผ่านระบบ 'ปัญญาประดิษฐ์' (AI) ที่จะให้ประสิทธิภาพสูงขึ้นในการควบคุม 'หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้' (NPL) โดยในปีนี้มั่นใจว่าจะรักษา NPL ให้อยู่ในระดับไม่เกิน 5% จากปัจจุบันไตรมาส 2 ปี 2562 อยู่ที่ 8% ลดลงจากไตรมาส 1/2562 อยู่ที่ 14% อีกทั้งคู่ค้าในส่วนของเครื่องจักรกลทางการเกษตรจะออกสินค้าใหม่ ทำให้บริษัทประเมินทิศทางการขอสินเชื่อเช่าซื้อจะเพิ่มขึ้นตามสินค้าใหม่เช่นกัน

          นอกจากนี้ บริษัทยังติดตามเจรจาหนี้สินจากลูกค้าอย่างใกล้ชิด และการใช้บริษัทบริหารติดตามหนี้ภายนอกเสริมอีกแรง ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมาบริษัทได้ปรับโครงสร้างและระบบการทำงานภายในองค์กรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น คาดว่าการปรับปรุงดังกล่าวจะผลักดันการดำเนินธุรกิจของบริษัทให้ดีขึ้นด้วย

          อย่างไรก็ตาม สำหรับกลยุทธ์ที่ผ่านมาบริษัทได้พยายามกระจายประเภทของสินเชื่อไม่ให้กระจุกตัว เพื่อลดความเสี่ยง แต่ขณะนี้บริษัทมีสินเชื่อสบายใจอันดามัน เป็นสินเชื่อเช่าซื้อเครื่องจักรเรือและสินเชื่อในการซ่อมบำรุง สำหรับธุรกิจเรือท่องเที่ยว เข้ามาช่วยเสริมรายได้ รวมถึงสินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี

ล่าสุด บริษัทได้เปิดให้บริการสินเชื่อ 'ธุรกิจแฟ็คตอริง' เป็นประเภทสินเชื่อที่เหมาะกับกิจการที่มีลูกหนี้การค้าไปขายให้กับบริษัทที่ทำแฟ็คตอริง เพื่อนำเงินมาหมุนเวียนใช้จ่ายในกิจการระยะเวลาอันสั้น เป็นการนำบัญชีลูกหนี้การค้าที่ยังไม่ครบกำหนดวันรับเงิน มาหมุนเป็นเงินลงทุนก่อน เป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่เข้ามาเสริมรายได้ของบริษัทให้เติบโตแข็งแกร่งในอนาคต ขณะที่ การลดอัตราดอกเบี้ยของ 'คณะกรรมการนโยบายการเงิน' (กนง.) มองว่าไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากลูกค้ากู้เงินส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร พ่อค้า แม่ค้า ภาคการท่องเที่ยว ที่ไม่ได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบของสถาบันการเงิน

          ท้ายสุด 'สเปญ' ทิ้งท้ายไว้ว่า อดีตที่ผ่านมาธุรกิจของ จี แคปปิตอล ผันผวนเพราะว่ามีพอร์ตข้าวอย่างเดียว แต่ตอนนี้ จี แคปปิตอล เวอร์ชั่นใหม่ความผันผวนกำลังจะลดน้อยลงจากการกระจายความเสี่ยงของรายได้เครื่องจักรกลออกไปในสินค้าหลากหลาย ขณะเดียวการมีบริษัทลูกคนใหม่ก็จะช่วยเสริมรายได้อีก

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ Biz Week

 


Warning: Unknown: open(/home/gcapital3/tmp/sess_1em49u5dl6fnssqus3ldi82cu3, O_RDWR) failed: Disk quota exceeded (122) in Unknown on line 0

Warning: Unknown: Failed to write session data (files). Please verify that the current setting of session.save_path is correct (/home/gcapital3/tmp) in Unknown on line 0